วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การปกครองสมัยรัตนโกสินทร์

การปกครองสมัยรัตนโกสินทร์
รูปแบบการปกครองของไทยแต่สมัยเดิมมามีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนักโดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยาตลอดระยะเวลาเกือบ 500 ปี มิได้การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการปกครองขนานใหญ่แต่อย่างใดจนถึงรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์อันเป็นระยะที่ประเทศไทย ได้มีการติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้นกว่าแต่ก่อนวัฒนธรรมและอารยธรรมต่างๆได้หลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศไทยประกอบกับอิทธิพลในการแสวงหา เมืองขึ้นของชาติตะวันตกที่สำคัญ 2 ชาติ คืออังกฤษและฝรั่งเศสกำลังคุกคามเข้ามาใกล้ประเทศไทยประการสำคัญที่สุดก็คือพระอัจฉริยะของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงคาดการณ์สำคัญในอนาคตอย่างถูกต้อง จึงได้ดำเนินรัฐประศาสนโยบายนำประเทศไทยให้พ้นวิกฤตการณ์ จากการคุกคามทางการเมืองมาได้นำประเทศไทยสู่ความก้าวหน้ายุคใหม่อันเป็นสำคัญที่เป็น รากฐานในการปกครองปัจจุบันการปฏิรูปการบริหาร (Administrativereform) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2435 นี้นับว่าเป็นการปฏิรูปการปกครองการบริหารที่สำคัญของชาติไทยและนำความเจริญรุ่งเรืองนานัปมาสู่ประเทศชาติและปวงชาวไทย ดังจะกล่าวถึงมูลเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการปฏิรูปการปกครองดังกล่าวต่อไป
สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในสมัยแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ยังคงอยู่ ในรูปแบบของเศรษฐกิจพอยังชีพ กล่าวคือยังไม่มีการแบ่งงานกันทำแต่ละครอบครัวต้องผลิตของที่จำเป็นทุกอย่างขึ้นมาใช้เอง ที่ดินก็ยังว่างเปล่าอยู่มาก ในขณะที่แรงงานเพื่อ ประกอบการผลิตยังมีอยู่น้อย เพราะสภาพสังคมขณะนั้นแรงงานคนส่วนใหญ่ต้องอุทิศให้กับ การเข้าเวรรับราชการและรับใช้มูลนายเวลาที่เหลือเพียงส่วนน้อยจึงเป็นเรื่องของการทำมาหาเลี้ยงชีพและครอบครัว ผลผลิตที่ได้ส่วนหนึ่งจึงเป็นไปตามความต้องการของครัวเรือนและอีกส่วนหนึ่งส่งเป็นส่วยให้กับทางราชการ การค้าภายในประเทศจึงมีน้อยเพราะว่าทรัพยากรมีจำกัด และความต้องการของแต่ละท้องถิ่นไม่แตกต่างกันการคมนาคมไม่สะดวกจวบจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 การค้าภายในประเทศจึงเริ่มขยายตัวเพราะชาวจีนเข้ามามีบทบาททางการค้าโดยทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลาง นำส่งสินค้าเข้า-ออก ตามท้อง ถิ่นต่าง ๆ ในส่วนที่เป็นรายรับ - รายจ่ายของแผ่นดินนั้น กล่าวได้ว่ารายรับไม่สมดุลกับรายจ่าย รายจ่ายส่วนใหญ่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นไปเพื่อการสร้างและบูรณะบ้านเมือง รายจ่ายในการป้องกันประเทศการบำรุงศาสนานอกจากนี้ก็ยังมีรายจ่ายเบี้ยหวัดข้าราชการและค่าใช้จ่ายภายในราชสำนักรายจ่ายตามประเภทที่กล่าวมาข้างต้นนั้น
นับว่ามีจำนวนสูง เพราะบ้านเมืองเพิ่งอยู่ในระยะก่อร่างสร้างตัวซ้ำยังมีศึกสงครามอยู่เกือบตลอดเวลารายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้นนั้นเมื่อเทียบกับรายได้ของแผ่นดินซึ่งยังคงมีที่มาเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี จึงเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองต้องแสวงหายรายได้ให้ เพิ่มมากขึ้น
รายได้ของรัฐบาลในสมัยต้นรัตนโกสินทร์จำแนกได้ดังนี้
1. ส่วย คือ เงินหรือสิ่งของที่ไพร่เอามาเสียภาษีแทนแรงงานถ้า ไม่ต้องการชำระเป็นเงิน ก็อาจจะทดแทนด้วยผลิตผลที่มีอยู่ในท้องที่ ๆ ไพร่ผู้นั้นอาศัยอยู่เช่นดีบุกดินประสิว นอกจากนี้ส่วยยังเรียกเก็บจากหัวเมืองต่าง ๆ และบรรดาประเทศราช
2. ฤชา คือ การเสียค่าธรรมเนียมที่ประชาชนจ่ายเป็นค่าตอบแทนการบริการของรัฐบาล รัฐบาลจะกำหนดเรียกเก็บเป็นอย่าง ๆ ไป เช่น ค่าธรรมเนียมโรงศาลค่าธรรมเนียมการออกโฉนด หรือค่าธรรมเนียมกรรมสิทธิ์ เป็นต้น
3. อากร คือ เงินที่พ่อค้าเสียให้แก่รัฐบาลในการขอผูกขาดสัมปทาน เช่น การจับปลา การเก็บของป่าต้มกลั่นสุรา และตั้งบ่อนการพนัน เป็นต้น ส่วนอีกประเภทหนึ่ง คือ การเรียกเก็บผลประโยชน์ที่ราษฎรทำได้จากการประกอบการต่างๆเช่น ทำนาทำไร่ การเก็บอากร ค่านา ในสมัยรัชกาลที่ 2 กำหนดให้ราษฎรเลือกส่งได้ 2 รูปแบบ คือ ส่งเป็นผลิตผลหรือตัวเงิน เช่น ถ้าส่งเป็นเงินให้ส่งไร่ละหนึ่งสลึง อากรประเภทอื่นยังมีอีก เช่น อากรสวน อากรตลาด เป็นต้น
4. ภาษีอากรและจังกอบภาษีอากรหมายถึงการเก็บภาษีจากสินค้าเข้าและสินค้าออก ภาษีเข้ามีอัตราการเก็บที่ไม่แน่นอนประเทศใดที่มีสัมพันธไมตรีดีต่อไทยก็จะเก็บ ภาษีน้อยกว่าเรือของประเทศที่ไปมาค้าขายเป็นครั้งคราวหาก แต่ในสมัยรัชกาลที่ 2 อัตราที่กำหนดให้เก็บคือร้อยละ8โดยตลอดส่วนชาวจีนนั้นให้คิดอัตราร้อยละ 4 ส่วนภาษีสินค้าออกเก็บในอัตราที่แตกต่างไปตามชนิดของสินค้า จังกอบ คือค่าผ่านด่านซึ่งเรียกเก็บจากสินค้าและขนาดของพาหนะที่บรรทุกด่านที่เก็บจังกอบเรียกว่าขนอนหรือด่านภาษีการเก็บจังกอบมี 2 ประเภทคือประเภทแรกเป็นการเก็บค่าผ่านด่านขนอนทั้งทางบกและทางน้ำ เรียกเก็บจากสินค้าค้าของราษฏรโดยชักสินค้านั้นเป็นส่วนลดอีกประเภทหนึ่งคือ เก็บตามอัตราขนาดของยานพาหนะที่ขนสินค้าผ่านด่าน โดยจะวัดตามความกว้างของปากเรือ เรียกว่า"ค่าปากเรือ" ในสมัยรัตนโกสินทร์นี้แม้เศรษฐกิจหลักของสังคมจะเป็นไปแบบเดิมคือ การเกษตรกรรมโดยอาศัยธรรมชาติ แต่ทางราชการก็พยายามสนับสนุนช่วยเหลือในการชลประทานการค้ากับต่างประเทศก็ดำเนินเป็นล่ำเป็นสันขึ้นกว่าในสมัยก่อนเพราะไทยมีสินค้าออกคือ ผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งเป็นที่ต้องการของประเทศ
ทางตะวันตก

การปกครองสมัยกรุงธนบุรี

การปกครองสมัยกรุงธนบุรี
การปกครองในสมัยกรุงธนบุรียังคงมีรูปแบบเหมือนกับสมัยอยุธยาตอนปลาย พอสรุปได้ดังนี้
การปกครองส่วนกลาง หรือ การปกครองในราชธานี พระมหากษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดเปรียบเสมือนสมมุติเทพ มีเจ้าฟ้าอินทรพิทักษ์ดำรงดำแหน่งพระมหาอุปราช มีตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหารหรือสมุหพระกลาโหม มียศเป็นเจ้าพระยามหาเสนา และอัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือนหรือสมุหนายก(มหาไทย) มียศเป็นเจ้าพระยาจักรี เป็นหัวหน้าบังคับบัญชาเสนาบดีจตุสดมภ์ 4 กรมได้แก่
1. กรมเมือง (นครบาล) มีพระยายมราชเป็นผู้บังคับบัญชา ทำหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองภายในเขตราชธานี การบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎรและการปราบโจรผู้ร้าย
2. กรมวัง (ธรรมาธิกรณ์) มีพระยาธรรมาเป็นผู้บังคับบัญชาทำหน้าที่เกี่ยวกับกิจการภายในราชสำนักและพิพากษาอรรถคดี
3. กรมพระคลัง (โกษาธิบดี) มีพระยาโกษาธดีเป็นผู้บังคับบัญชาทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับจ่ายเงินของแผ่นดิน และติดต่อ ทำการค้ากับต่างประเทศ
4. กรมนา (เกษตราธิการ) มีพระยาพลเทพเป็นผู้บังคับบัญชาทำหน้าที่เกี่ยวกับเรือกสวนไร่นาและเสบียงอาหารตลอดจน ดูแลที่นาหลวง เก็บภาษีค่านา เก็บข้าวขึ้นฉางหลวงและพิจารณาคดีความเกี่ยวกับเรื่องโค กระบือ และที่นา
การปกครองส่วนภูมิภาคแบ่งออกเป็น หัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก หัวเมืองประเทศราช
หัวเมืองชั้นใน จัดเป็นเมืองระดับชั้นจัตวา มีขุนนางชั้นผู้น้อยเป็นผู้ดูแลเมือง ไม่มีเจ้าเมือง ผู้ปกครองเมืองเรียกว่า ผู้รั้ง หรือ จ่าเมือง อำนาจในการปกครองขึ้นอยู่กับเสนาบดีจัตุสดมภ์
หัวเมืองชั้นในสมัยกรุงธนบุรี ได้แก่ พระประแดง นนทบุรี สามโคก(ปทุมธานี)
หัวเมืองชั้นนอก หรือเมืองพระยามหานคร เป็นเมืองที่อยู่นอกเขตราชธานีออกไป กำหนดฐานะเป็นเมืองระดับชั้น เอก โท ตรี จัตวา ตามลำดับ หัวเมืองฝ่ายเหนือขึ้นอยู่กับอัครมหาเสนาบดีฝ่ายสมุหนายก ส่วนหัวเมืองฝ่ายใต้และหัวเมืองชายทะเลภาคตะวันออก ขึ้นอยู่กับกรมท่า(กรมพระคลัง) ถ้าเป็นเมืองชั้นเอก พระมหากษัตริย์ จะส่งขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ออกไปเป็นเจ้าเมือง ทำหน้าที่ดูแลต่างพระเนตรพระกรรณ
หัวเมืองชั้นนอก ในสมัยกรุงธนบุรี ระดับเมืองชั้นเอก ได้แก่ พิษณุโลก จันทบูรณ์
หัวเมืองชั้นนอก ในสมัยกรุงธนบุรี ระดับเมืองชั้นโท ได้แก่ สวรรคโลก ระยอง เพชรบูรณ์
หัวเมืองชั้นนอก ในสมัยกรุงธนบุรี ระดับเมืองชั้นตรี ได้แก่ พิจิตร นครสวรรค์
หัวเมืองชั้นนอก ในสมัยกรุงธนบุรี ระดับเมืองชั้นจัตวาได้แก่ ไชยบาดาล ชลบุรี
หัวเมืองประเทศราช เป็นเมืองต่างชาติต่างภาษาที่อยู่ห่างไกลออกไปติดชายแดนประเทศอื่น มีกษัตริย์ปกครอง แต่ต้องได้รับการแต่งตั้งจากกรุงธนบุรี ประเทศเหล่านั้น ประมุขของแต่ละประเทศจัดการปกครองกันเอง แต่ต้องส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองและเครื่องราชบรรณาการมาให้ตามที่กำหนด
หัวเมืองประเทศราช ในสมัยกรุงธนบุรี ได้แก่ เชียงใหม่ (ล้านนาไทย) ลาว (หลวงพระบาง,เวียงจันทน์(จำปาศักดิ์), กัมพูชา (เขมร) และนครศรีธรรมราช