วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 กฎหมาย

กฎหมาย หมายถึง กฎที่สถาบันหรือผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐตราขึ้น หรือที่เกิดขึ้นจากจารีตประเพณีอันเป็นที่ยอมรับนับถือ เพื่อใช้ในการบริหารประเทศ เพื่อใช้บังคับบุคคลให้ปฏิบัติตาม หรือเพื่อกำหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือระหว่างบุคคลกับรัฐ

ความสำคัญของกฎหมาย

1. กฎหมายสร้างความเป็นระเบียบและความสงบเรียบร้อยให้กับสังคมและประเทศชาติ เมื่ออยู่รวมกันเป็นสังคมทุกคนจำเป็นต้องมีบรรทัดฐาน ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติยึดถือเพื่อความสงบเรียบร้อย ความเป็นปึกแผ่นของกลุ่ม

2. กฎหมายเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ พลเมืองไทยทุกคนต้องปฏิบัติตนตามข้อบังคับของกฎหมาย ถ้าใครฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องได้รับโทษ กฎหมายจะเกี่ยวข้องกับ การดำรงชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย

3. กฎหมายก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม คนเราทุกคนย่อมต้องการความ ยุติธรรมด้วยกันทั้งสิ้น การที่จะตัดสินว่าการกระทำใดถูกต้องหรือไม่นั้น ย่อมต้องมีหลักเกณฑ์ ฉะนั้น กฎหมายจึงเป็นกฎเกณฑ์สำคัญที่เป็นหลักของความยุติธรรม

4. กฎหมายเป็นหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปในทางใด หรือคุณภาพของพลเมืองเป็นอย่างไร จำเป็นต้องมีกฎหมายออกมาใช้บังคับ เพื่อให้ได้ผลตามเป้าหมายของการพัฒนาที่กำหนดไว้ ดังจะเห็นได้จากการที่กฎหมายได้กำหนดให้บุคคลมีสิทธิได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยรัฐเป็นผู้จัดการศึกษาให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายนั้น ย่อมส่งผลให้ คุณภาพด้านการศึกษาของประชาชนสูงขึ้น หรือการที่กฎหมายกำหนดให้ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ พิทักษ์ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย่อมทำให้สังคมและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนมีมาตรฐานดีขึ้น

องค์ประกอบของกฎหมาย
1. กฎหมายเป็นบทบัญญัติ
2. ผู้มีอำนาจตรากฎหมาย จะต้องเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ
3. บทบัญญัติที่กำหนดไว้ มี 2 ประเภท คือ
-บทบัญญัติ ที่ใช้ในการบริหารบ้านเมือง
-บทบัญญัติที่ใช้บังคับบุคคล ในความสัมพันธ์ระหว่างกัน (ไม่เกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง)
4. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องได้รับโทษ หรือ ต้องถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม

ประเภทของกฏหมาย
การแบ่งประเภทของกฏหมายโดยพิจารณาจากสภาพภูมิศาสตร์หรือขอบเขตการใช้กฏหมายมาเป็นแนวทางในการแบ่งประเภท อาจแบ่งกฏหมายได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. กฏหมายระหว่างประเทศ กฏหมายระหว่างประเทศ เป็นกฏหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐในฐานะที่เท่าเทียมกัน เป็นกฏหมายที่เกิดขึ้นจากความตกลงระหว่างรัฐ ซึ่งถือเป็นกติกาในการจัดระเบียบสังคมโลก ตัวอย่างเช่น กฏหมายการประกาศอาณาเขตน่านฟ้า การส่งผู้ร้ายขามแดน และสนธิสัญญาต่างๆ เป็นต้น
2. กฏหมายภายในประเทศ เป็นกฏหมายที่ใช้บังคับภายในรัฐต่อบุคคลทุกคนที่อาศัยอยู่ภายในรัฐ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนของประเทศนั้นๆ หรือบุคคลต่างด้าว กฏหมายภายในประเทศยังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ กฏหมายมหาชนและกฏหมายเอกชน

กฏหมายมหาชน หมายถึง กฏหมายที่รัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นคู่กรณีด้วยกับเอกชน มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดรูปแบบการปกครองรัฐ และควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชนในฐานะที่รัฐจำต้องรักษาผลประโยชน์ของรัฐ และผลประโยชน์ของสาธารณะ โดยทั่วไปกฏหมายมหาชนแบ่งได้เป็น 5 ประเภท คือ

1.รัฐธรรมนูญ เป็นกฏหมายสูงสุดของประเทศ กำหนดรูปแบบและการปกครองของรัฐ การใช้อำนาจอธิปไตย และการกำหนดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ
2.กฏหมายปกครอง เป็นกฏหมายที่ขยายความให้ละเอียดจากรัฐธรรมนูญบัญญัติเกี่ยวกับองค์กรของรัฐ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการปฏิบัติการต่างๆ ตามกฏหมาย กำหนดสิทธิของประชาชนในการเกี่ยวพันกับรัฐ
3.กฏหมายอาญา เป็นกฏหมายที่มีบทบัญญัติครอบคลุมเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของรัฐ ชุมชน และประชาชนโดยส่วนรวม วัตถุประสงค์ของกฏหมายเพื่อที่จะให้ความปลอดภัย สร้างความเป็นระเบียบของรัฐและรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชน
4.กฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นกฏหมายที่กำหนดรายละเอียดวิธีพิจารณาคดีอาญาทางศาล
5.พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กำหนดว่าในการพิจารณาคดีนั้น ศาลใดจะมีอำนาจในการพิจารณาคดีประเภทใด

กฏหมายเอกชน เป็นกฏหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือบุคคลกับนิติบุคคล และบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการต่างๆ ที่ให้บุคคลสามารถรักษาและป้องกันสิทธิมิให้ถูกละเมิดจากบุคคลอื่น เช่น กฏหมายเกี่ยวกับสัญญา การสมรส มรดก กฏหมายเอกชนแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

1.กฏหมายแพ่ง เป็นกฏหมายที่กำหนดเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของเอกชน เช่น ความมีสภาพเป็นบุคคล ครอบครัว มรดก นิติกรรม เป็นต้น ซึ่งถ้ามีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของกันและกันแล้ว ไม่กระทบคนส่วนใหญ่ ลักษณะการลงโทษจึงมีเพียงการชดใช้ค่าเสียหายเท่านั้น
2.กฏหมายพาณิชย์ เป็นกฏหมายที่กำหนดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของบุคคลที่ประกอบการค้าและธุรกิจ เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วน การประกัน เป็นต้น ซึ่งมีผลกระทบกับคนส่วนใหญ่ ดังนั้นลักษณะของกฏหมายจึงต่างจากกฏหมายแพ่ง
3.กฏหมายพิจารณาความแพ่ง เป็นกฏหมายว่าด้วยข้อบังคับที่ใช้ในการดำเนินคดีเมื่อเกิดคดีความทางแพ่ง
สำหรับประเทศไทย ได้รวมกฏหมายแพ่งและกฏหมายพาณิชย์ไว้เป็นฉบับเดียวกัน เรียกว่า ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์

ลำดับศักดิ์ของกฎหมาย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดรูปแบบการปกครองและระเบียบ ยังเป็นกฎหมายแม่บทของกฎหมายอื่นทุกฉบับ กฎหมายอื่นจึงจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมิได้ มิเช่นนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้เลยมักมีผู้เรียก "รัฐธรรมนูญ" ว่า "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" พึงทราบว่า "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" (Constitutional Law) นั้นเป็นคำเรียกสาขาวิชาทางนิติศาสตร์และเรียกกฎหมายมหาชนแขนงหนึ่งซึ่งว่าด้วยการวางระเบียบการปกครองรัฐในทางการเมือง ส่วน "รัฐธรรมนูญ" (Constitution) นั้นคือกฎหมายจริง ๆ ฉบับหนึ่งซึ่งจัดระเบียบการปกครองรัฐในทางการเมือง
กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมายชนิดนี้อยู่ในรูปของพระราชบัญญัติในประเทศไทย และมีศักดิ์เดียวกันกับพระราชบัญญัติ แต่มีวิธีการตราที่พิสดารกว่าพระราชบัญญัติเนื่องเพราะเป็นกฎหมายที่อธิบายรายละเอียดต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญ

พระราชบัญญัติ และประมวลกฎหมาย เป็นกฎหมายชั้นรองลงมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นกฎหมายที่ถือได้ว่าคลอดออกมาจากท้องของรัฐธรรมนูญโดยตรง องค์กรที่มีหน้าที่ตรากฎหมายสองประเภทนี้ได้แก่รัฐสภา

พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจในการตราให้แก่ฝ่ายบริหารคือคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ใช้ในกรณีรีบด่วนหรือฉุกเฉิน พระราชกำหนดนั้นเมื่อมีการประการใช้แล้วคณะรัฐมนตรีต้องนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ถ้ามิได้รับความเห็นชอบก็เป็นอันสุดสุดลง แต่ผลของการสิ้นสุดลงนี้ไม่กระทบกระเทือนบรรดาการที่ได้กระทำลงระหว่างใช้พระราชกำหนดนั้น

พระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดซึ่งเป็นหลักการย่อย ๆ ของพระราชบัญญัติหรือของพระราชกำหนด เปรียบเสมือนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่อธิบายขยายความในรัฐธรรมนูญ

กฎองค์การบัญญัติ เป็นกฎหมายที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นตราขึ้นและใช้บังคับภายในเขตอำนาจของตน ได้แก่ ข้อบังคับตำบล เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และข้อบัญญัติเมืองพัทยา เนื่องจากอำนาจในการตรากฎหมายประเภทนี้ได้รับมาจากพระราชบัญญัติ โดยทั่วไปจึงถือว่ากฎองค์การบัญญัติมีศักดิ์ต่ำกว่าพระราชบัญญัติ ชั่วแต่ว่าใช้บังคับภายในเขตใดเขตหนึ่งเป็นการทั่วไปเท่านั้น

กฎกระทรวง เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารและไม่ต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากรัฐสภา มีลักษณะคล้ายพระราชกฤษฎีกาเพราะศักดิ์ของผู้ตราต่างกัน

"เมื่อพระราชกฤษฎีกากับกฎกระทรวงมีความใกล้เคียงกันมาก ข้อที่พิจารณาให้เห็นถึงความแตกต่างกันว่าควรจะออกกฎหมายในรูปพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงนั้น ขึ้นอยู่กับว่า เนื้อหาของกฎหมายที่ต้องการบัญญัตินั้นมีความสำคัญเพียงใด ซึ่งหากมีความสำคัญเป็นอย่างมากจะออกมาในรูปของพระราชกฤษฎีกา แต่ถ้ามีความสำคัญน้อยกว่าก็ออกในรูปของกฎกระทรวง"

ผลการจัดศักดิ์ของกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร
1. การออกกฎหมายที่มีศักดิ์ของกฎหมายต่ำกว่าจะออกได้โดยอาศัยอำนาจจากกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าหรือตามที่กฎหมายศักดิ์สูงกว่าให้อำนาจไว้
2. กฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายศักดิ์สูงกว่า จะออกมาโดยมีเนื้อหาเกินกว่าขอบเขตอำนาจที่กฎหมายศักดิ์สูงกว่าให้ไว้มิได้ มิฉะนั้นจะใช้บังคับมิได้เลย
3. หากเนื้อหาของกฎหมายมีความขัดแย้งกัน ต้องใช้กฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าบังคับ ไม่ว่ากฎหมายศักดิ์สูงกว่านั้นจะออกก่อนหรือหลังกฎหมายศักดิ์ต่ำกว่านั้น

หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 กฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา

กฎหมายแพ่ง
1. กฎหมายแพ่ง คือกฎหมายที่เกี่ยวกับครอบครัวและมรดก กฎหมายแพ่งที่เกี่ยวกับครอบครัวเป็นกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวข้องกับชีวิตของตนเองและครอบครัว ดังนี้
1.1 การหมั้น เป็นการที่หญิงชายตกลงทำสัญญาว่าจะทำการสมรสกัน การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบทรัพย์อันเป็นของหมั้นให้แก่ฝ่ายหญิง แต่ในการสมรสนั้นไม่ได้บังคับว่าจะมีการหมั้นก่อน แต่ถ้าหมั้นก็จะมีผลผูกพันกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องปฎิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการหมั้น เช่น ของหมั้นจะตกเป้นสิทธิแก่หญิงทันที เมื่อมีการหมั้นแล้ว ไม่ว่าชายหรือหญิงตาย ฝ่ายหญิงก็ไม่ต้องคืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายเป็นต้น
เกณฑ์การหมั้นตามกฎหมายนั้น คือ ชาย หญิงจะหมั้นต้องมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์จึงจะมีอำนาจที่จะทำการหมั้นได้โดยลำพังตนเอง แต่ถ้ามีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์จะทำการหมั้นได้ต้องมีพ่อแม่หรือผู้ปกครองยินยอมก่อน เป็นต้น
การหมั้นที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดไว้นั้นถือเป็นโมฆะ เหตุที่กฎหมายกำหนดอายุของหญิงและชายไว้ ก็เพราะการหมั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวของชายและหญิง เมื่อจะทำสัญญาหมั้นกันจึงควรให้ชายและหญิงที่จะหมั้นอยู่ในวัยที่จะรู้เรื่องการหมั้นได้ตามสมควร กฎหมายถือว่าชายหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์ ไม่อยู่ในวัยที่จะรู้เรื่องการหมั้น การสมรส แม้บิดามารดาจะยินยอมก็ตามเ
1.2 การรับรองบุตร เป็นการให้การยอมรับบุตรซึ่งเกิดจากหญิงที่เป็นภรรยาโดยมได้จดทะเบียนสมรส ซึ่งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิง แต่เป็นบุตรนอกกฎหมายของชาย กฎหมายจึงเปิดโอกาสให้ชายจดทะเบียนรับรองบุตร ซึ่งจะทำให้เด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายนับตั้งแต่วันที่ชายจดทะเบียน แต่ถ้าเป็นบุตรนอกสมรสแต่ต่อมาชายหญิงได้จดทะเบียนสมรสกันก็ไม่ต้องจดทะเบียบรับรองบุตรอีก การจดทะเบียนบุตรมี 2 วิธี คือการรับรองบุตรด้วยความสมัครใจของชายผู้เป็นบิดา และการรับรองบุตรโดยคำพิพากษาของศาลให้เด็กผู้นั้นเป็นบุตรของชายผู้เป็นบิดา
1.3 กฎหมายแพ่งเกียวกับมรดก
กฎหมายแพ่งเกี่ยวกับมรดกกำหนดว่าเมื่อบุคคลใดตาย และทำพินัยกรรมไว้ มรดกจะตกทอดแก่บุคคลที่ผู้ตายระบุไว้ในพินัยกรรม หากไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้มรดกจะตกทอดแก่บุคคลที่เป็นทายาทและคู่สมรส
กองมรดก ได้แก่ ทรัพย์ทุกชนิดของผู้ตาย รใมทั้งสิทธิและหน้าที่ ตลอดทั้งความรับผิดชอบต่างๆเกี่ยวกับทรัพย์สิน เป็นต้นว่าหนี้สิน เว้นแต่กฎหมาย หรือโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ เช่นสิทธิในการเข้าสอบ หรือสิทธิในการมีอาวุธปืน การตายของเจ้าของมรดกมีความยหมาย สองกรณี คือตายหรือสิ้นชีวิตไปตามจริงตามใบมรณบัตร หรือศาลสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญ บุคคลที่จะได้รับมรดกของผู้ตายได้แก่ ทายาท วัด แผ่นดิน บุคคลภายนอกนี้ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายเลย
ทายาทแบ่งออกเป็นสองประเภท
1. ทายาทโดยธรรม เป็นทายาทตามสิทธิกฎหมาย ได้แก่ ญาติ และคู่สมรส และทายาทที่แบ่งออกเป็นหกชั้นคือ
1.1 ผู้สืบสันดาน
1.2 บิดามารดา
1.3 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
1.4 พี่น้องที่ร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
1.5 ปู่ย่า ตายาย
1.6 ลุง ป้า น้า อา
2.ผู้รับพินัยกรรม พินัยกรรม ได้แก่ คำสั่งยกทรัพย์สินหรือแบ่งทรัพย์สิน หรือวางข้อกำหนดใดๆอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนเมื่อตายไปแล้ว หรือกรณีอื่นๆที่กฎหมายรับรองมีผลเมื่อตายไปแล้ว เช่น การตั้งเป็นผู้ปกครองเด็ก เป็นต้นและต้องทำให้ถูกกฎหมายกำหนดไว้ด้วย จึงจะมีผลเป็นพินัยกรรมตามกฎหมาย ผู้รับพินัยกรรม ได้แก่ ผู้ที่มีชื่อระบุไว้ในพีนัยกรรม

กฎหมายอาญา
กฎหมายอาญา คือ กฎหมายที่ว่าด้วยความผิดและโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิด ตัวบทที่สำคัญๆ ของกฎหมายอาญาก็คือ ประมวลกฎหมายอาญา นอกจากประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ยังมีพระราชบัญญัติอื่นๆที่กำหนดโทษทางอาญาสำหรับการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินั้น เช่น พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พระราชบัญญัติการพนัน เป็นต้น
ทุกสังคมย่อมมีกฎเกณฑ์ ข้อบังคับความประพฤติของสมาชิกในสังคมนั้นๆ บุคคลใดมีการกระทำที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสังคมหรือคนส่วนใหญ่ จัดเป็นการกระทำความผิดทางอาญา ดังนั้นกฎหมายอาญาจึงเป็นกฎหมายซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการป้องกันสังคม เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยการกำหนดว่า การกระทำใดเป็นความผิดอาญาและได้กำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืน กระทำความผิดนั้นๆ

1. ความผิดทางอาญา
ความผิดทางอาญา คือ การกระทำที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสังคมหรือคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อบุคคลใดกระทำความผิดทางอาญา จะต้องได้รับโทษตามกฎหมายมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของการกระทำความผิด กฎหมายมิได้ถือว่าการกระทำความผิดทุกอย่างร้ายแรงเท่าเทียมกัน การลงโทษผู้กระทำความผิดจึงขึ้นอยู่กับการกระทำ และสังคมมีความรู้สึกต่อการกระทำนั้นๆ ว่า อะไรเป็นปัญหาสำคัญมากน้อยเพียงใด ซึ่งอาจจะแบ่งการกระทำความผิดอาญาออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1.1 ความผิดต่อแผ่นดิน หมายถึง ความผิดในทางอาญา ซึ่งนอกจากเรื่องนั้นจะมีผลต่อตัวผู้รับผลร้ายแล้ว ยังมีผลกระทบที่เสียหายต่อสังคมอีกด้วย และรัฐจำเป็นต้องป้องกันสังคมเอาไว้ด้วยการยื่นมือเข้ามาเป็นผู้เสียหายเอง ดังนั้นแม้ผู้รับผลร้ายจากการกระทำโดยตรงจะไม่ติดใจเอาความ แต่ก็ยังต้องเข้าไปดำเนินคดีฟ้องร้องเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้
กรณีตัวอย่างที่ 1 นายมังคุดทะเลาะกับนายทุเรียน นายมังคุดบันดาลโทสะใช้ไม้ตีศีรษะนายทุเรียนแตก นายทุเรียนไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินคดีกับนายมังคุดในข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่น ต่อมานายทุเรียนหายโกรธนายมังคุดก็ไม่ติดใจเอาเรื่องกับนายมังคุด แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องดำเนินคดีกับนายทุเรียนต่อไปเพราะเป็นความผิดต่อแผ่นดิน
กรณีตัวอย่างที่ 2 นายแตงโมขับรถยนต์ด้วยความประมาทไปชนเด็กชายแตงไทยถึงแก่ความตายเป็นความผิดอาญาฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต่อมานายแตงกวาและนางแต่งอ่อนบิดามารดาของเด็กชายแตงไทย ได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากนายแตงโมเป็นเงิน 200,000 บาทแล้ว จึงไม่ติดใจเอาความกับนายแตงโม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องดำเนินคดีกับนายแตงโมต่อไป เพราะความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเป็นความผิดต่อแผ่นดิน
1.2 ความผิดอันยอมความกันได้ หมายถึง ความผิดในทางอาญาซึ่งไม่ได้มีผลร้ายกระทบต่อสังคมโดยตรง หากตัวผู้รับผลร้ายไม่ติดใจเอาความแล้ว รัฐก็ไม่อาจยื่นมือเข้าไปดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ และถึงแม้จะดำเนินคดีไปแล้ว เมื่อตัวผู้เสียหายพอใจยุติคดีเพียงใดก็ย่อมทำได้ด้วยการถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความ เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาท ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ เป็นต้น
กรณีตัวอย่างที่ 1 นายโก๋และนางกี๋ลักลอบได้เสียกัน นายแฉแอบเห็นเข้า จึงได้นำความไปเล่าให้นายเชยผู้เป็นเพื่อนฟัง การกระทำของนายแฉมีความผิดฐานหมิ่นประมาท เมื่อนายโก๋และนางกี๋รู้เข้าจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ นายแฉไปหานายโก๋และนางกี๋ เพื่อขอขมานายโก๋และนางกี๋จึงถอนคำร้องทุกข์ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีกับนายแฉอีกต่อไป ถือว่าเป็นความผิดอันยอมความกันได้
กรณีตัวอย่างที่ 2 นายตำลึงล่ามโซ่ใส่กุญแจประตูใหญ่บ้านของนายมะกรูด ทำให้นายมะกรูดออกจากบริเวณบ้านไม่ได้ นายมะกรูดต้องปีนกำแพงรั้งกระโดลงมา การกระทำของนายตำลึงเป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ปราศจากเสรีภาพ นายมะกรูดจึงไปแจ้งความยังสถานีตำรวจ นายตำลึงได้ไปหานายมะกรูดยอมรับความผิด และขอร้องไม่ให้นายตำลึงเอาความกับตนเอง นายตำลึงเห็นใจจึงไปถอนคำร้องทุกข์ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะดำเนินคดีต่อไปอีกไม่ได้เพราะเป็นความผิดอันยอมความกันได้

2. ลักษณะสำคัญของกฎหมายอาญา
2.1 เป็นกฎหมายที่กำหนดเป็นความผิดชัดแจ้ง ในขณะกระทำความผิดต้องมีกฎหมายบัญญัติไว้แล้วอย่างชัดแจ้งว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด เจ้าหน้าที่ผู้ใช้กฎหมายจะสร้างกฎหมายใหม่ขึ้นมาใช้บังคับแก่ประชาชนคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะไม่ได้ เช่น กฎหมายบัญญัติว่า “การลักทรัพย์เป็นความผิด” ดังนั้น ผู้ใดลักทรัพย์ก็ย่อมมีความผิดเช่นเดียวกัน
2.2 เป็นกฎหมายที่ไม่มีผลย้อนหลัง เป็นโทษไม่ได้แต่เป็นคุณได้ ถ้าหากในขณะที่มีการกระทำสิ่งใดยังไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด แม้ต่อมาภายหลังจะมีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำอย่างเดียวกันนั้นเป็นความผิด ก็จะนำกฎหมายใหม่ใช้กับผู้กระทำผิดคนแรกไม่ได้
กรณีตัวอย่าง นายมะม่วงมีต้นไม้สักขนาดใหญ่ซึ่งขึ้นในที่ดิน ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของเขา นายมะม่วงได้ตัดต้นสัก เลื่อยแปรรูปเก็บเอาไว้ ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติป่าไม้ ฉบับที่ 3 ออกมาบังคับใช้ ถือว่าไม้สักเป็นไม้หวงห้ามก็ตาม นายมะม่วงก็ไม่มีความผิด เพราะจะใช้กฎหมายใหม่ย้อนหลังลงโทษทางอาญาไม่ได้

3. โทษทางอาญา
1) ประหารชีวิต คือ นำตัวไปยิงด้วยปืนให้ตาย
2) จำคุก คือ นำตัวไปขังไว้ที่เรือนจำ
3) กักขัง คือนำตัวไปขังไว้ ณ ที่อื่น ที่ไม่ใช่เรือนจำ เช่น นำไปขังไว้ที่สถานีตำรวจ
4) ปรับ คือ นำค่าปรับซึ่งเป็นเงินไปชำระให้แก่เจ้าพนักงาน
5) ริบทรัพย์สิน คือ ริบเอาทรัพย์สินนั้นเป็นของหลวง เช่น ปืนเถื่อน ให้ริบ ฯลฯ

4. บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาและได้รับโทษทางอาญาเมื่อใด
บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาต่อเมื่อ
4.1 กระทำโดยเจตนา คือ การกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
กรณีตัวอย่างที่ 1 นายฟักรู้ว่านายแฟง ซึ่งเป็นศัตรูจะต้องเดินผ่านสะพานข้ามคลองหลังวัดสันติธรรมทุกเช้าเวลาประมาณ 08.00 น. เขาจึงไปดักซุ่มอยู่ใกล้บริเวณนั้น เมื่อนายแฟงเดินมาใกล้นายฟักจึงใช้ปืนยิงไปที่นายแฟง 1 นัด กระสุนปืนถูกบริเวณหน้าอกของนายแฟง เป็นเหตุให้นายแฟงถึงแก่ความตาย นายฟักมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา
กรณีตัวอย่างที่ 2 ดาวเรืองทะเลาะกับบานชื่น ดาวเรืองพูดเถียงสู้บานชื่นไม่ได้ ดาวเรืองจึงตบปากบานชื่น 1 ที่ ดาวเรืองมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายโดยเจตนา
4.2 กระทำโดยไม่เจตนา แต่ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยแจ้งชัดให้รับผิดแม้กระทำโดยไม่เจตนากระทำโดยไม่เจตนา คือ ผู้กระทำไม่ได้ประสงค์ต่อผล หรือไม่อาจเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้ เช่น เราผลักเพื่อนเพียงจะหยอกล้อเท่านั้น แต่บังเอิญเพื่อนล้มลงไป ศีรษะฟาดขอบถนนถึงแก่ความตาย เป็นต้น
4.3 กระทำโดยประมาท แต่ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาทการกระทำโดยประมาท คือ การกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านี้ได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
กรณีตัวอย่าง นายเหิรฟ้าใช้อาวุธปืนขู่นายเหิรลม เพื่อไม่ให้เอาแป้งมาป้ายหน้านายเหิรฟ้า โดยที่นายเหิรฟ้าไม่รู้ว่าอาวุธปืนกระบอกนั้น มีลูกกระสุนปืนบรรจุอยู่ เป็นเหตุให้กระสุนปืนลั่นไปถูกนายเหิรลมตาม นายเหิรฟ้ามีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
อนึ่ง “การกระทำ” ไม่ได้หมายความเฉพาะถึงการลงมือกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงการงดเว้นการกระทำโดยประสงค์ให้เกิดผลและเล็งเห็นผลที่จะเกิดเช่น แม่จงใจทิ้งลูกไม่ให้กินข้าว จนทำให้ลูกตาย ตามกฎหมายแม่มีหน้าที่จะต้องเลี้ยงดูลูก เมื่อแม่ละเลยไม่ทำหน้าที่ดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้ลูกตาย ย่อมเป็นการกระทำความผิดโดยงดเว้น ถ้าการงดเว้นนั้นมีเจตนางดเว้นก็ต้องรับผิดในฐานะกระทำโดยเจตนา ถือว่าเป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา

บุคคลจะต้องได้รับโทษทางอาญาต่อเมื่อ
1. การกระทำอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้น บัญญัติเป็นความผิดซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่า “ไม่มีความผิดโดยปราศจากกฎหมาย”
2. กฎหมายที่ใช้ในขณะนั้นต้องกำหนดโทษไว้ด้วย เป็นไปตามหลักที่ว่า “ไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย” การลงโทษต้องเป็นโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เช่น กฎหมายกำหนดโทษปรับศาลจะลงโทษจำคุกไม่ได้ แม้ศาลจะลงโทษปรับศาลก็ลงโทษปรับเกินอัตราขั้นสูงที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ได้
กรณีตัวอย่าง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 372 บัญญัติว่า ผู้ใดทะเลาะกันอย่างอื้ออึงในทางสาธารณะ หรือสาธารณสถานหรือกระทำโดยประการอื่นใด ให้เสียความสงบเรียบร้อยในทางสาธารณะหรือสาธารณะสถานต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ดังนั้น ถ้าผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรานี้ศาลจะลงโทษจำคุกไม่ได้ เพราะความผิดตามมาตราดังกล่าวกำหนดเฉพาะโทษปรับเท่านั้น ถ้าศาลจะลงโทษปรับก็จะปรับได้ไม่เกิน 500 บาท

5. เหตุที่กฎหมายไม่ลงโทษ
โดยหลักทั่วไปแล้วบุคคลใดกระทำความผิดต้องรับโทษ แต่มีบางกรณีที่กฎหมายไม่ลงโทษ เหตุที่กฎหมายไม่ลงโทษนั้น เป็นกรณีที่กฎหมายไม่ลงโทษผู้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด หมายความว่า ผู้กระทำยังมีความผิดอยู่แต่กฎหมายยกเว้นโทษให้ ต่างกับกรณียกเว้นความผิด ซึ่งผู้กระทำไม่มีความผิดเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามทั้งเหตุยกเว้นและหยุดยกเว้นความผิดต่างก็มีผลทำให้ผู้กระทำรับโทษเหมือนๆกัน
เหตุยกเว้นโทษทางอาญา
การกระทำความผิดอาญาที่ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษถ้ามีเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย เช่น
1. การกระทำความผิดด้วยความจำเป็น
2. การกระทำความผิดเพราะความบกพร่องทางจิต
3. การกระทำความผิดเพราะความมึนเมา
4. การกระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน
5. สามีภริยากระทำความผิดต่อกันในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์บางฐาน
6. เด็กอายุไม่เกิน 14 ปีกระทำความผิด

6. เด็กและเยาวชนกระทำความผิด
เด็กอาจกระทำความผิดได้เช่นเดียวผู้ใหญ่ แต่การกระทำความผิดของเด็กอาจได้รับโทษต่างจากการกระทำของผู้ใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากเด็กเป็นผู้อ่อนเยาว์ ปราศจากความรู้สึกรับผิดชอบหรือขาดความรู้สึกสำนึกเท่าผู้ใหญ่ การลงโทษเด็กจำต้องคำนึงถึงอายุของเด็ก ผู้กระทำความผิดด้วย กฎหมายได้แบ่งการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนออกเป็น 4 ช่วงอายุ คือ
1) เด็กอายุไม่เกิน 7 ปี
2) เด็กอายุกว่า 7 ปี แต่ยังไม่เกิน 14 ปี
3) เยาวชนอายุเกินกว่า 14 ปีแต่ไม่เกิน 17 ปี
4) เยาวชนอายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี
สำหรับเด็กในช่วงอายุไม่เกิน 7 ปี และเด็กอายุกว่า 7 ปีแต่ไม่เกิน 14 ปีเท่านั้น ที่กฎหมายยกเว้นโทษให้ ส่วนผู้ที่อายุเกินกว่า 14 ปีแต่ไม่เกิน 17 ปี และผู้ที่มีอายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี หากกระทำความผิดกฎหมายก็จะไม่ยกเว้นโทษให้ เพียงแต่ให้รับลดหย่อนโทษให้
6.1 เด็กอายุไม่เกิน 7 ปีการกระทำความผิด เด็กไม่ต้องรับโทษเลย ทั้งนี้เพราะกฎหมายถือว่าเด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถรู้ผิดชอบได้ ฉะนั้นจะมีการจับกุมฟ้องร้อยเกในทางอาญามิได้
6.2 เด็กอายุกว่า 7 ปี แต่ไม่เกิน 14 ปีกระทำความผิด เด็กนั้นก็ไม่ต้องรับโทษเช่นกัน แต่กฎหมายให้อำนาจศาลที่จะใช้วิธีการสำหรับเด็ก เช่น
1) ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป
2) เรียกบิดามารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาตักเตือนด้วยก็ได้
3) มอบตัวเด็กให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้าย
4) มอบเด็กให้แก่บุคคลที่เด็กอาศัยอยู่ เมื่อเขายอมรับข้อกำหนดที่จะระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้าย
5) กำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ
6) มอบตัวเด็กให้กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควร เพื่อดูและอบรมและสั่งสอนเด็กในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอม
7) ส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียนหรือสถานฝึกอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรม
6.3 เยาวชนอายุเกิน 14 ปี แต่ไม่เกิน 17 ปีกระทำความผิด ผู้ที่อายุกว่า 14 ปีแต่ไม่เกิน 17 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ให้ศาลพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบและสิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับผู้นั้นในอันควรวินิจฉัยว่าสมควรพิพากษาลงโทษผู้นั้นหรือไม่ศาลอาจใช้วิธีการตามข้อ 6.2 หรือลงโทษเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ โดยลดมาตราส่วนโทษที่จะใช้กับเยาวชนนั้นลงกึ่งหนึ่ง ก่อนที่จะมีการลงโทษเยาวชนผู้กระทำความผิด
6.4 เยาวชนอายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปีกระทำความผิด ผู้ที่อายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี กระทำอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลง 1 ใน 3 หรือกึ่งหนึ่งก็ได้จะเห็นได้ว่า ผู้ที่อายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี กฎหมายไม่ถือว่าเป็นเด็ก แต่กฎหมายก็ยอมรับว่า บุคคลในวัยนี้ยังมีความคิดอ่านไม่เท่าผู้ใหญ่จริง จึงไม่ควรลงโทษเท่าผู้ใหญ่กระทำความผิด โดยให้ดุลพินิจแก่ศาลที่จะพิจารณาว่า สมควรจะลดหย่อนผ่อนโทษให้หรือไม่ ถ้าศาลพิจารณาสิ่งต่างๆที่เกี่ยวกับผู้กระทำความผิด เช่น ความคิดอ่าน การศึกษาอบรม ตลอดจนพฤติการณ์ในการกระทำความผิด เช่น กระทำความผิดเพราะถูกผู้ใหญ่เกลี้ยกล่อม หากศาลเห็นสมควรลดหย่อนผ่อนโทษให้ก็มีอำนาจลดมาตราส่วนโทษได้ 1 ใน 3 หรือกึ่งหนึ่งการลดมาตราส่วนโทษ คือ การลดอัตราโทษขั้นสูงและโทษขั้นต่ำลง 1 ใน 3 หรือกึ่งหนึ่งแล้ว จึงลงโทษระหว่างนั้น แต่ถ้ามีอัตราโทษขั้นสูงอย่างเดียวก็ลดเฉพาะอัตราโทษขั้นสูงนั้น แล้วจึงลงโทษจากอัตราที่ลดแล้วนั้น
กรณีตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 536/2516 จำเลยอายุ 19 ปี ยอมมีความรู้สึกผิดชอบน้อย ได้กระทำความผิดโดยเข้าใจว่าผู้ตายข่มเหงน้ำใจตน ศาลเห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษลง 1 ใน 3

สรุปสาระสำคัญ
1. กฎหมายอาญา คือ กฎหมายที่ว่าด้วยความผิดและโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิด
2. ความผิดทางอาญา คือ การกระทำที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสังคมหรือคนส่วนใหญ่ของประเทศ
3. การกระทำความผิดอาญาออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ความผิดต่อแผ่นดิน และความผิดอันยอมความกันได้
4. ลักษณะสำคัญของกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่กำหนดเป็นความผิดชัดแจ้ง หรือเป็นกฎหมายที่ไม่มีผลย้อนหลัง
5. โทษทางอาญา มี 5 ชนิด
1. ประหารชีวิต 2. จำคุก
3. กักขัง 4. ปรับ
5. ริบทรัพย์สิน
6. กระทำโดยเจตนา คือ การกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
7. กระทำโดยไม่เจตนา คือ ผู้กระทำไม่ได้ประสงค์ต่อผล หรือไม่อาจเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้
8. การกระทำโดยประมาท คือ การกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้น จะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านี้ได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
9. กฎหมายได้แบ่งการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนออกเป็น 4 ช่วงอายุ คือ
1) เด็กอายุไม่เกิน 7 ปี
2) เด็กอายุกว่า 7 ปี แต่ยังไม่เกิน 14 ปี
3) เยาวชนอายุเกินกว่า 14 ปีแต่ไม่เกิน 17 ปี
4) เยาวชนอายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี

หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 กฎหมายที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน

กฎหมายแพ่ง เป็นกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องบุคคล ทรัพย์สิน นิติกรรม สัญญา ละเมิด ครอบครัว และมรดก ที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย
กฎหมายอาญา เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความผิดและโทษ โดยกำหนดผู้กระทำผิดจะได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนด
กฎหมายอาญาจึงมีความสำคัญช่วยให้ประชาชนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย

กฎหมายเกี่ยวกับบุคคล
บุคคล หมายถึง สิ่งที่กฎหมายกำหนดให้มีสิทธิหน้าที่ได้ตามกฎหมาย
สภาพบุคคลเริ่มต้นตั้งแต่แรกคลอดเป็นทารกและสิ้นสุดสภาพบุคคลเมื่อตายหรือสาบสูญตาม คำสั่งของศาล
การสาบสูญ คือ การหายจากภูมิลำเนาในภาวะปกติเกิน 7 ปี หรือหายจากภาวะที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น เรืออับปาง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ 3 ปี ถือว่าเป็นคนสาบสูญได้ ในกรณีที่ผู้สาบสูญกลับมา สามารถขอร้องต่อศาลให้ถอนคำสั่งสาบสูญได้

บุคคลแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. บุคคลธรรมดา หมายถึง บุคคลที่มีความสามารถ สามารถทำนิติกรรมได้ตามที่กฎหมายกำหนด
ส่วนประกอบของสภาพบุคคล
1. ชื่อตัว - ชื่อสกุล
2. สัญชาติ ได้มาโดยการเกิด การสมรส การแปลงชาติ
3. ภูมิลำเนา คือถิ่นที่อยู่ประจำและแน่นอนของบุคคล
4. สถานะ คือ ฐานะของบุคคลตามกฎหมายซึ่งทำให้เกิดสิทธิ เช่น โสด สมรส หย่า
2. นิติบุคคล หมายถึง หมู่คนหรือสิ่งที่กฎหมายรับรองสภาพอย่างบุคคลธรรมดา และมีสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบในนามของกิจการ
เช่น กระทรวง ทบวง กรม บริษัท สมาคม มูลนิธิ และวัด เป็นต้น


ทรัพย์และทรัพย์สิน
ทรัพย์ หมายถึง วัตถุ หรือสิ่งที่มีรูปร่าง
ทรัพย์สิน หมายถึง ทรัพย์และวัตถุที่ไม่มีรูปร่าง เช่น ลิขสิทธิ์ (ทรัพย์สินทางปัญญา)
ประเภทของทรัพย์สิน
1. อสังหาริมทรัพย์ หมายถึง ทรัพย์สินที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้
2. สังหาริมทรัพย์ หมายถึง ทรัพย์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้


นิติกรรม
นิติกรรม คือการแสดงเจตนาผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับสิทธิ์
หลักการทำนิติกรรม
1. มีการแสดงเจตนาของบุคคล โดยการพูด เขียน หรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
2. การกระทำนั้นต้องทำด้วยความสมัครใจ
3. มีเจตนาที่จะให้เกิดผลตามกฎหมาย

นิติกรรมที่เป็นโมฆะและโมฆียะ
1. นิติกรรมที่เป็น โมฆะ คือ นิติกรรมที่ไม่ได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ตั้งแต่แรก ซึ่งไม่เกิดผลทางกฎหมาย
2. นิติกรรมที่เป็น โมฆียะ คือ นิติกรรมที่มีผลสมบูรณ์จนกว่าจะถูกบอกล้าง เช่น
นิติกรรมที่ผู้เยาว์กระทำโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม เมื่อมีการบอกล้างแล้ว โมฆียะกรรมจะกลายเป็นโมฆะ


สัญญาต่าง ๆ
ประเภทของสัญญา

สัญญาซื้อขายธรรมดา แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1. คำมั่นว่าจะซื้อหรือจะขาย คือ มีการให้คำมั่นเสนอว่าจะซื้อหรือจะขาย
2. สัญญาจะซื้อจะขาย คือ สัญญาตกลงกันในสาระสำคัญของสัญญาจะซื้อจะขาย
3. สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด คือ เป็นสัญญาที่ตกลงกันตามสาระสำคัญของสัญญากันเรียบร้อยแล้ว

สัญญาซื้อขายเฉพาะอย่าง แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ
1. สัญญาซื้อขายเงินสด คือ สัญญาที่ผู้ซื้อตกลงชำระราคาสินค้าเป็นเงินสดทันที เมื่อมีการซื้อขายกัน
2. สัญญาซื้อขายผ่อนส่ง คือ สัญญาการซื้อขายที่มีการส่งมอบทรัพย์สินให้กับผู้ซื้อแล้ว แต่ผู้ซื้อยังไม่ได้ชำระราคา อาจตกลงผ่อนชำระเป็นงวด ๆ
3. สัญญาขายฝาก คือ สัญญาซื้อขายที่ผู้ขายฝากต้องการเงินจำนวนหนึ่งจากผู้ซื้อ จึงนำทรัพย์สินมาโอนให้กับผู้ซื้อฝาก และผู้ขายฝากมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินกับคืนได้ภายในเวลาที่ตกลงกันไว้ หากครบกำหนดไถ่คืนแล้ว ผู้ขายฝากไม่มาไถ่คืน ทรัพย์สินนั้นจะตกเป็นของผู้ซื้อฝากโดยเด็ดขาด
4. การขายทอดตลาด คือ การซื้อขายที่ประกาศให้ประชาชนมาประมูลซื้อสู้ราคากันโดยเปิดเผย ประกอบด้วยบุคคล 4 ฝ่าย คือ
- ผู้ขายซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สิน หรือผู้มีอำนาจขายทรัพย์สินได้
- ผู้ทอดตลาด
- ผู้สู้ราคา
- ผู้ซื้อ

สัญญาเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ แบ่งออกเป็น
1. สัญญาเช่าทรัพย์
- ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ไม่ต้องมีหลักฐานเป็นตัวหนังสือ
- ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ
2. สัญญาเช่าซื้อ คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์นั้นให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินหรือจะให้ทรัพย์นั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าซื้อ โดยมีเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว การทำสัญญาเช่าซื้อต้องทำหนังสือลงลายมือชื่อในสัญญาทั้งสองฝ่าย

สัญญากู้ยืมเงิน
เป็นสัญญาที่ผู้กู้และผู้ให้กู้ได้ตกลงกันในการยืมเงินและจะคืนเงินให้ตามเวลาที่กำหนดไว้โดยมีการเสียดอกเบี้ย
การกู้ยืมเงินตั้งแต่ 2,000 บาทขึ้นไป ต้องมีหลักฐานลงลายมือชื่อผู้กู้ไว้เป็นสำคัญ


กฎหมายเกี่ยวกับครอบครัว
การหมั้น คือ การทำสัญญาระหว่างชายหญิงว่าจะสมรสกัน จะทำได้เมื่อชายและหญิงอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ถ้าชายและหญิงเป็นผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง
การสมรส การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์หากมีอายุต่ำกว่านี้ต้องศาลอนุญาต
ทรัพย์สินของสามีและภรรยา แบ่งเป็น
1. สินส่วนตัว คือ ทรัพย์สินที่สามีหรือภรรยามีก่อนสมรส
2. สินสมรส คือ ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างการสมรส
การสิ้นสุดการสมรส
1. ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ
2. คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่กรรม
3. การหย่า

- สิทธิและหน้าที่ของบิดาและมารดา บิดามารดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตร
- สิทธิและหน้าที่ของบุตร บุตรมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเป็นการตอบแทน


กฎหมายเรื่องมรดก
มรดก คือ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่าง ๆ ของผู้ตายหรือเจ้าของมรดก ซึ่งเมื่อเจ้าของมรดกถึงแก่ความตาย มรดกย่อมตกทอดแก่ทายาททันทีที่ตาย
ทายาท คือ ผู้มีสิทธิได้รับมรดก 2 ประเภท
1. ทายาทโดยธรรม คู่สมรสและญาติสนิท
2. ทายาทตามพินัยกรรม ผู้มีสิทธิ์ได้รับมรดกตามพินัยกรรมระบุไว้

พินัยกรรม คือ เอกสารที่เจ้าของมรดกแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์


กฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน
1. กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ เป็นการกำหนดสิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ของบุคคล
-สิทธิ หมายถึง ประโยชน์ซึ่งกฎหมายรับรอง คุ้มครองให้กับบุคคล เช่น สิทธิทางการเมือง สิทธิในทรัพย์สิน
-เสรีภาพ หมายถึง การกระทำของบุคคลที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย เช่น เสรีภาพในร่างกาย เสรีภาพในการพูด การพิมพ์ การเขียน การนับถือศาสนา
-หน้าที่ คือ สิ่งที่บุคคลจะต้องกระทำหรืองดเว้นกระทำ ในฐานะสมาชิกของรัฐ เช่น การเสียภาษีอากร การป้องกันประเทศ

2. กฎหมายเลือกตั้ง เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมการจัดและดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและยุติธรรม

3. กฎหมายเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร์
- เมื่อมีคนเกิดต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 15 วัน
- เมื่อมีคนตายต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 24 ชม.
- เมื่อย้ายที่อยู่อาศัยต้องแจ้งภายใน 15 วัน

4. กฎหมายเกี่ยวกับบัตรประชาชน
- บุคคลที่มีสัญชาติไทยอายุ ตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 70 ปี ต้องขอมีบัตรประชาชน
- การเปลี่ยนชื่อตัว - ชื่อสกุล ต้องขอทำบัตรใหม่ภายใน 60 วั น
- บัตรสูญหายต้องขอเปลี่ยนใหม่ ภายใน 60 วัน
บุคคลที่ไม่ต้องมีบัตรประชาชน ได้แก่ พระภิกษุ ข้าราชการ นักโทษ และบุคคลที่มีอายุเกิน 70ปี ขึ้นไป

5. กฎหมายเกี่ยวกับการรับราชการทหาร
- ชายไทยที่มีสัญชาติไทย อายุย่างเข้า 18 ปีบริบูรณ์ ให้ไปแสดงตัวเพื่อลงบัญชีพลทหารกองเกินภายในเขตภูมิลำเนาของตน
- เมื่ออายุย่างเข้า 21 ปี ต้องไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกและต้องทำการตรวจเลือกเพื่อเข้าเป็นทหารกองประจำการตามกำหนดนัด
*บุคคลที่ไม่ต้องเป็นทหารประจำการ ได้แก่ พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ คนพิการทุพพลภาพ บุคคลที่ขาดความสามารถบางประการที่ไม่อาจเป็นทหารได้

6. กฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความสะอาดของชุมชน และสิ่งแวดล้อม
- พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เช่น การสร้าง ดัดแปลง ต่อเติม รื้อถอน ต้องขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น
- พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2518
- พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2522

หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 กฎหมายหลักที่ใช้ปกครองประเทศ

การปกครองระบอบประชาธิปไตย

1. ความหมายของประชาธิปไตย ประชาธิปไตย มาจากคำว่า ประชา + อธิปไตย (ประชาคือประชาชน ราษฎรเจ้าของประเทศ และอธิปไตย คือ อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ)
2. รูปแบบของประชาธิปไตย แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ เสรีนิยมประชาธิปไตย และประชาธิปไตยประยุกต มีหลายรูปแบบ หลายลักษณะดังนี้
2.1 ลักษณะของประมุข บางประเทศมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และบางประเทศมีประธานาธิบดี เป็นประมุข
2.2 ระบบการใช้อำนาจการปกครอง บางประเทศปกครองในระบบรัฐสภา มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล บริหารประเทศ และอยู่ภายใต้การควบคุมของสภาผู้แทนราษฎร แต่บางประเทศปกครองในระบบประธานาธิบดี โดยประธานาธิบดีมีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ ไม่ต้องขึ้นต่อสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น
3. หลักการของประชาธิปไตย คือ ประชาชนปกครองตนเอง ประชาชนทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตยจะยึดหลักเสียงข้างมาก ในการตัดสินปัญหาหรือลงมติในเรื่องต่าง ๆ แต่ก็ต้องรับฟังเสียงข้างน้อย หรือมีลักษณะที่สำคัญ คือ
1. เป็นอำนาจของปวงชน
2.ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ
3. การปกครองต้องถือเสียงข้างมาก
4. ประชาชนต้องมีสิทธิและเสรีภาพ
5. หลักความเสมอภาค
4. วิธีการของประชาธิปไตย คือ การเลือกตั้ง มีการเลือกตั้ง ตั้งตัวแทนประชาชนไปทำหน้าที่ออกกฎหมายที่เรียกว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือไปจัดตั้งคณะผู้ปกครองประเทศ ที่เรียกว่า คณะรัฐมนตรี หรือ รัฐบาล
5. รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ซึ่งเป็นแม่บทกฎหมายในการกำหนดรูปแบบและกระบวนการในการปกครอง และกำหนดถึงสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของประชาชนไว้ เกิดขึ้นจากประชาชน หรือตัวแทนประชาชนเป็นผู้ร่าง รัฐธรรมนูญจะกำหนด อำนาจหน้าที่ของประชาชน คณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎรรวมทั้งวิธีการตรากฎหมาย และอื่น ๆ เป็นต้น
สิทธิ หมายถึง อำนาจอันชอบธรรมหรือประโยชน์อันชอบธรรมของบุคคลที่กฎหมายคุ้มครอง
เสรีภาพ คือ ภาวะที่ทุกคนสามารถทำอะไรตามต้องการภายใต้กรอบของกฎหมาย
หน้าที่ หมายถึง ภาระที่ต้องกระทำ หรืองดเว้นการกระทำตามกฎหมายกำหนด

กฎหมายรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับได้กำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไว้ดังนี้
1. สิทธิเท่าเทียมกันของชายและหญิง
2. สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายโดยเท่าเทียมกัน
3. สิทธิทางการเมือง ประชาชนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น การเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง
4. สิทธิในทรัพย์สิน ประชาชนชาวไทยมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินส่วนบุคคลได้
5. สิทธิในครอบครัว ประชาชนจะได้รับการคุ้มครองจากรัฐในการดำรงชีวิตในครอบครัว
6. สิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ เมื่อได้รับความไม่เป็นธรรม
7. สิทธิในการรับการศึกษาขั้นมูลฐาน
8. สิทธิที่จะฟ้องหน่วยราชการ เมื่อเห็นเจ้าพนักงานของหน่วยราชการทำ ไม่ถูกต้อง

กฎหมายรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดถึงเสรีภาพของประชาชนไว้ดังนี้
1. เสรีภาพในการนับถือศาสนา
2. เสรีภาพในการประกอบอาชีพ
3. เสรีภาพในการพูด การเขียน การพิมพ์และโฆษณา
4. เสรีภาพในการเดินทางและเลือกที่อยู่อาศัย
5. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
6. เสรีภาพในการศึกษา
7. เสรีภาพในร่างกาย
8. เสรีภาพในการตั้งพรรคการเมือง

กฎหมายรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดหน้าที่ของประชาชนไว้ดังนี้
1. หน้าที่จะต้องดำรงไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริยื และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
2. หน้าที่จะต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น
3. หน้าที่ในการป้องกันประเทศ
4. หน้าที่ในการรับราชการทหารตามกฎหมาย
5. หน้าที่ในการเสียภาษีอากร
6. หน้าที่ช่วยเหลือราชการที่กฎหมายกำหนด
7. หน้าที่ได้รับการศึกษาอบรมตามที่กฎหมายกำหนด
8. หน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมือง
9. หน้าที่ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง


--------------------------------------------------------------------------------

อำนาจอธิปไตย

อำนาจอธิปไตย คืออำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ แบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย มีสถาบันที่ใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 แทนประชาชน ดังนี้
1. อำนาจนิติบัญญัติ - รัฐสภา ทำหน้าที่ตรากฎหมายขึ้นใช้ในประเทศ
2. อำนาจบริหาร - คณะรัฐมนตรี (รัฐบาล) ทำหน้าที่บริหารประเทศ
3. อำนาจตุลาการ - ศาล ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดี
ความสัมพันธ์กันระหว่างอำนาจทั้ง 3 คืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด โดยที่รัฐธรรมนูญ จะให้ความสัมพันธ์ของอำนาจทั้งสามสมดุลกัน ควบคุมซึ่งกันและกันและไม่อยู๋ภายใต้อิทธิพลของกันและกัน และเนื่องจากการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นแบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาลจึงเป็นไป ตามหลักการ ของประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

อำนาจนิติบัญญัติ
อำนาจนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ระบุถึงเรื่องการใช้อำนาจอธิปไตยส่วนที่เป็นนิติบัญญัติโดยมีหน้าที่สำคัญคือมีอำนาจในการออกกฎหมาย ในการออกกฎหมายนั้นเป็นอำนาจของรัฐสภา ซึ่งรัฐสภานั้นประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ได้มาจากการเลือกตั้งตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนด
สำหรับหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ การเลือกนายกรัฐมนตรี แล้วนายกรัฐมนตรีเลือกคณะรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่บริหารประเทศ

อำนาจบริหาร
อำนาจบริหาร ในส่วนที่เป็นอำนาจบริหารนั้นตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2540) กำหนดไว้ว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีหนึ่งคนและคณะรัฐมนตรีอีกไม่เกิน คน แต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา

อำนาจตุลาการ
อำนาจตุลาการ ตามรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับจะระบุถึงการใช้อำนาจตุลาการไว้และในการใช้อำนาจตุลาการนั้นจะใช้ใน พระปรมาภิไธย ของพระมหากษัตริย ์โดยผ่านทางศาลยุติธรรม สำหรับผู้พิพากษาและตุลาการนั้นมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยที่ฝ่าย บริหารจะเข้าไปมีอำนาจเหนือตุลาการไม่ได้


--------------------------------------------------------------------------------

บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของไทย

หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 แล้วฐานะของพระมหากษัตริย์ได้เปลี่ยนไปคือตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขของประเทศ และทรงอยู่เหนือการเมือง สำหรับความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญต่อสังคมไทยสรุปได้ดังนี้
1. สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่ยกย่องเทิดทูนและเคารพสักการะของประชาชน
2. เป็นสถาบันที่อยู่ในฐานะสูงสุดที่จะให้คำแนะนำตักเตือนและให้กำลังใจแก่นักการเมืองที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐบาลและบุคคลสำคัญ ข้าราชการหรือประชาชนทั่วไปในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของประเทศชาติ
3. เป็นสถาบันที่อยู่ในฐานะสูงสุดที่จะช่วยแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองให้ลดความรุนแรงหรือขจัดให้หมดไปเช่น กรณีความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้น เมื่อวันมหาวิปโยค วันที่ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2534 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเรียกให้ทุกฝ่ายหยุดความรุนแรงและเหตุการณ์ต่าง ๆ ก็สงบเรียบร้อยอย่างรวดเร็ว
4. ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ประชาชนเนื่องในวโรกาสต่าง ๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันพระราชทานปริญญาบัตร โดยมีเนื้อหาข้อคิดในเรื่องต่าง ๆ เช่น ความสามัคคี ความรักชาติ การเสียสละ ความมีระเบียบวินัย เป็นต้น
5. ทรงเป็นมิ่งขวัญของชาติ พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงเป็นที่รักและสักการะของประชาชน ทั้งนี้เพราะพระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ ทรงสนพระราชหฤทัยในทุกข์สุขของประชาชนตลอดเวลา เช่น การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเย๊ยนประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ทุกหนทุกแห่ง และทรง พระราชทาน ทรัพย์ส่วนพระองค์ช่วยเหลือประชาชนเมื่อ เกิดภัยธรรมชาติเป็นประจำเสมอมา
6. ทรงสงเคราะห์ประชาชนผู้ยากไร้ จะเห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงพระาชทานช่วยเหลือสงเคราะห์อยู่เสมอ โดยการทรงจัดตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ทรงมีพระราชดำริให้ขยายการบริการของโครงการแพทย์หลวง และแพทย์พระราชทานไปยังประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะในท้องถิ่นทุรกันดาร ตลอดทั้งทรงให้มีการจัดตั้งโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน กำพร้า อนาถา ขึ้นเป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีพระราชกรณียกิจต่าง ๆ อีกมากมายที่พระมหากษัตริย์ของไทยภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยทรงมีพระคุณอันใหญ่หลวงแก่ประชาชนและประเทศชาติ


--------------------------------------------------------------------------------

สิทธิและเสรีภาพของชาวไทย

สิทธิ หมายถึง อำนาจอันชอบธรรมของบุคคลที่มีติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย การใช้สิทธิของบุคคลจะต้องเป็นไปตามขอบเขตของกฎหมาย และไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น เช่น สิทธิในครอบครัว สิทธิในทรัพย์สิน ฯลฯ
เสรีภาพ หมายถึง ความมีอิสระที่จะใช้สิทธิของตน ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย เช่นเสรีภาพในการพูด การเลือกถิ่นที่อยู่ และการเข้ารับการศึกษา เป็นต้น
สิทธิและเสรีภาพเป็นของคู่กัน บุคคลจะมีเสรีภาพเรื่องใด ๆ ได้ ก็ต่อเมื่อมีสิทธิในเรื่องนั้น ๆ เสียก่อน เช่น มีสิทธิในทรัพย์สิน(เป็นเจ้าของทรัพย์สิน) ก็ย่อมมีเสรีภาพในการนำทรัพย์สินของตนไปจำหน่ายจ่ายแจก เป็นต้น

การใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญได้กำหนดสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนไว้หลายประการ ดังนี้
1. สิทธิความเสมอภาคทางกฎหมาย บุคคลย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายโดยเสมอเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเพศหญิงหรือชาย หรือมีฐานะกำเนิดอย่างไร
2. สิทธิในครอบครัว บุคคลย่อมมีสิทธิอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวตามจาริตประเพณีและกฎหมาย และมีสิทธิในทรัพย์สินที่หามาได้ร่วมกัน
3. สิทธิในทรัพย์สิน ทรัพย์สินของบุคคลย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิที่จะกระทำการอย่างใด ๆ แก่ทรัย์สินของตนได้ เช่น การจำหน่าย หรือยกให้ผู้อื่น เป็นต้น
4. สิทธิทางการเมือง เช่น สิทธิเลือกตั้ง สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และสิทธิในการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เป็นต้น
5. สิทธิที่จะยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ เมื่อถูกข่มเหงหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประชาชนย่อมมีสิทธเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อทางราชการได้
6. สิทธิที่จะฟ้องหน่วยราชการ เมื่อบุคคลได้รับความเสียหายในทรัพย์สินหรือร่างกายจากการกระทำของหน่วยราชการ ก็ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องต่อศาล เพื่อเรียกค่าเสียหายได้
7. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโทษอย่างเป็นธรรม โดยได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้สุจริต แม้จะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดก็ตาม เว้นแต่จะมีคำพิพากาาของศาลจนถึงที่สุดว่าบุคคลผู้นั้นกระทำความผิดจริง
8. สิทธิที่จะขอทนายความจากรัฐ บุคคลที่ตกเป็นจำเลยคดีอาญา ถ้าเป็นผู้ที่ยากจนขาดแคลนทุนทรัพย์ มีสิทธิขอให้รัฐจัดหาทนายความเพื่อต่อสู้คดีให้ได้
9. สิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนจากการรับโทษอาญา ในกรณีที่ถูกศาลตัดสินจำคุก แต่ภายหลังศาลได้รื้อฟื้นคดีใหม่ และพิพากาาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ บุคคลผู้นั้นมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนจากรัฐ
10. เสรีภาพในร่างกาย บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในร่างกายของตน ผู้ใดจะจับกุมคุมขังหน่วงเหนี่ยวตัวบุคคลมิได้ เว้นแต่จะกระทำตามกฎหมาย
11. เสรีภาพในการพูด การเขียน การพิมพ์ และการโฆษณา ทั้งนี้จะต้องไม่ละเมิดหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิ หรือชื่อเสียงเกียรติยศชื่อเสียงของบุคคลอื่น เช่น การหมิ่นประมาท หรือใส่ความโดยไม่มีมูลความจริง หรือปลุกปั่นยุยงให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีงามของประชาชน เป็นต้น
12. เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เว้นแต่ในระหว่างที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก
13. เสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะติดต่อสื่อสารถึงกันได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งนี้บุคคลอื่นจะตรวจหรือกัก หรือเปิดเผยไม่ได้ ผู้ใดเปิดผนึกหรือเปิดเผยข้อความในจดหมายหรือโทรเลขของผู้อื่นและทำให้เกิดความเสียหาย ย่อมมีความผิดตามกฎหมาย
14. เสรีภาพในการเดินทางและเลือกถิ่นที่อยู่อาศัย
15. เสรีภาพในการนับถือศาสนา
16. เสรีภาพในการรวมตัวจัดตั้งเป็นสมาคม
17. เสรีภาพในการศึกษาอบรม

ข้อจำกัดเกี่ยวกับสิทธิ
การใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนจะต้องมีข้อจำกัด หรืออยู่ภายใต้ของเขตของกฎหมาย รัฐจำเป็นต้องจำกัดการใช้สิทธิของประชาชน เพราะสาเหตุดังนี้
1. การรักาาความมั่นคงของชาติ ป้องกันมิให้การใช้สิทธิของประชาชนกระทบกระเทือนต่อสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์
2. การรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง หรือศิลธรรมอันดีงามของประชาชน ป้องกันมิให้มีการปลุกปั่นยุยงให้ประชาชนเกิดความตื่นกลัว หรือก่อความไม่สงบ หรือเผยแพร่สิ่งตีพิมพ์อนาจาร เป็นต้น
3. การป้องกันมิให้ประชาชนละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน เช่นการรุกล้ำอาคารสถานที่ การใช้เสียงดังเกินควร และการปล่อยเขม่าควันฝุ่นละออง ของโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
4. การสนับสนุนให้รัฐสามารถปฏิบัติงานได้โดยสะดวก เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมและความเป็นธรรมในสังคม เช่น เมื่เกิดสงคราม รัฐจะจำกัดสิทธิของประชาชน โดยห้ามออกนอกบ้านเป็นบางเวลาหรือการเวนคืนที่ดินของประชาชนมาสร้างถนนหรือทางด่วน เป็นต้น